“ขณะนี้หลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก จนต้องซื้อน้ำจากภายนอกมาใช้ในฟาร์มทุกวัน ทำให้มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีก จากเดิมต้นทุนการใช้น้ำอยู่ที่ 30 บาทต่อตัว เพิ่มเป็น 300-600 บาทต่อหมูขุน 1 ตัว หรือ 3-6 บาทต่อหมู 1 กิโลกรัม จากเฉลี่ยแล้วหนึ่งเที่ยวราคาอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทต่อน้ำ 1 หมื่นลิตร สำหรับฟาร์มขนาดเล็กต้องใช้น้ำราว 2 เที่ยวต่อวัน ต้นทุนในส่วนนี้จึงเพิ่มขึ้นถึง 6,000 บาทต่อวัน หากเป็นฟาร์มใหญ่ขาดแคลนนํ้ามาก ต้นทุนก็จะสูงขึ้นมากขึ้นไปอีก กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบกับต้นทุนการเลี้ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นายสิทธิพันธ์ กล่าว
นอกจากนี้ฤดูร้อนยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิด โรคกลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ หรือ โรค PRRS ที่ทำให้สุกรแท้งลูกในระยะท้ายของการอุ้มท้อง ส่งผลต่อเนื่องถึงสุกรอนุบาลและสุกรขุนทำให้อัตราเสียหายเพิ่ม และต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น ขณะเดียวกัน เกษตรกรทั่วประเทศยังคงเฝ้าระวังควบคุมและป้องกันโรคสำคัญในสุกรทั้ง ASF และ PRRS อย่างเข้มงวด โดยเพิ่มความเข้มข้นของระบบ Biosecurity ในฟาร์ม และเน้นการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ต้นทุนการป้องกันโรคเพิ่มกว่า 200-300 บาทต่อตัว และคาดว่าต้นทุนการเลี้ยงในขณะนี้สูงกว่า ประมาณการต้นทุนการลี้ยงสุกรขุนเฉลี่ยไตรมาส 1/2564 ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ที่คาดว่าอยู่ที่ 77.49 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาเฉลี่ยสุกรมีชีวิตตามประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติอยู่ที่ 79-80 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับเกษตรกรแทบไม่มีกำไรจากการเลี้ยง แต่ยังจำเป็นต้องประคับประคองอาชีพเดียวเอาไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคมีปริมาณสุกรบริโภคอย่างเพียงพอ