น้ำและปุ๋ย ปัจจัยสำคัญต่อผลผลิตของเกษตรกร แต่ขณะเดียวกันถือเป็นต้นทุนหลักของคนที่ทำการเกษตร หากสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงได้ ภาระของเกษตรกรก็จะลดลงได้ไม่น้อย "โครงการปันน้ำปุ๋ยให้ชุมชน" จึงช่วยเกษตรกรได้จริงและเห็นผลชัดเจน
ตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ปันน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรให้แก่เกษตรกรรอบข้าง นำไปใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูก ทั้งในภาวะแล้งและในยามปกติ
สัมฤทธิ์ แตงหวาน เกษตรกรใน ต.สระกระโจม อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี ที่รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรนพรัตน์ ของซีพีเอฟมานานกว่า 19 ปี ถือเป็นเกษตรกรรุ่นแรกที่รับน้ำปุ๋ยมาใช้กับแปลงฟักเขียว ในพื้นที่ 8 ไร่ เล่าว่า ตลอด 19 ปีที่ผ่านมา เป็นการพึ่งพาอาศัยกันอย่างยั่งยืนของฟาร์มและเกษตรกร ซึ่งนอกจากผมแล้ว ยังมีเกษตรกรรอบข้างฟาร์มรายอื่นๆ ที่มาขอรับน้ำปุ๋ยไปใช้ ช่วยให้สามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี ด้วยคุณสมบัติของน้ำปุ๋ย ซึ่งเป็นน้ำหลังการบำบัดในระบบไบโอแก๊สที่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และยังมีแร่ธาตุที่เหมาะสมกับการเติบโตของต้นไม้และพืช ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีอีกเลย ได้ผลผลิตที่ปลอดสารเคมี ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ช่วยลดต้นทุนของเกษตรกรในส่วนนี้ได้ 100 % จากที่เคยใช้ปุ๋ยเคมี 12-13 ลูก ต้นทุนเกือบ 2 หมื่นบาทต่อปี สัมฤทธิ์บอกว่าตอนนี้มีเกษตรกรรอบข้างมาขอน้ำปุ๋ยไปใช้ด้วย โดยตนได้ทำเป็นคลองส่งน้ำมาบรรจบกับคลองที่ฟาร์มปล่อยน้ำมาให้ เพื่อกระจายไปยังเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรทุกรายจะมีข้อตกลงร่วมกันในการนำน้ำไปใช้
ทางด้านเกษตรกร ต.บ้านโข้ง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ป้าผู้ใหญ่ คำภา คุ้ยสุขพันธ์ เล่าว่า เป็นเกษตรกรรายแรกที่รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรอู่ทอง เมื่อ 19 ปีที่แล้ว ตอนนั้นการใช้น้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรเป็นเรื่องใหม่มาก แต่ด้วยความที่ตนเองมีไร่อ้อยอยู่ติดฟาร์ม จึงตัดสินใจทดลองนำน้ำปุ๋ยมาใช้เป็นตัวอย่างให้กับลูกบ้าน ทางฟาร์มก็ช่วยอำนวยความสะดวกต่อท่อน้ำมาให้โดยตรง น้ำที่ส่งมาสามารถใช้ได้ทันทีและไม่มีกลิ่นใดๆ หลังจากที่นำน้ำปุ๋ยมาใช้กับไร่อ้อยไปสักระยะ สังเกตว่าผลผลิตอ้อยที่ได้อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ลำใหญ่ สูงยาว แม้ยังต้องเสริมปุ๋ยเพื่อช่วยเรื่องน้ำหนักและความหวาน แต่ก็ไม่ต้องใช้ในปริมาณมากเหมือนเมื่อก่อน เกษตรกรรายอื่นๆที่เห็นป้านำน้ำปุ๋ยไปใช้แล้วได้ผลผลิตที่ดี ก็มีความมั่นใจและมาขอใช้น้ำปุ๋ยจากฟาร์มตลอด ขอบคุณซีพีเอฟที่มีโครงการดีๆ แบ่งปันให้พี่น้องเกษตรกร ช่วยลดต้นทุน ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ ขายได้ราคาดี รายได้ก็เพิ่มขึ้นด้วย
เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวาน อินทัน สิงห์ทะ รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรจอมทอง จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2559 บอกว่า เคยนำน้ำปุ๋ยของฟาร์มฯ มาทดสอบคุณสมบัติเทียบกับน้ำธรรมดา พบว่าน้ำปุ๋ยมีแร่ธาตุที่ส่งผลต่อการเติบโตของพืช จึงใช้กับข้าวโพดหวานที่ปลูกไว้ ในพื้นที่ 2 ไร่ และผักสวนครัว ผลผลิตดีขึ้นจริง ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้ถึง 50% จากที่เคยใช้ปุ๋ย 4 กระสอบ เหลือเพียง 2 กระสอบ โดยจะใช้น้ำปุ๋ยในช่วงที่ต้นข้าวโพดเล็กๆ จนถึงก่อนออกฝักระยะ 50 วันแรก จากนั้นเมื่อเริ่มออกฝักช่วง40 วันสุดท้าย จะใช้น้ำพลังงานไฟฟ้าของอบต.ข่วงเปา ขอขอบคุณฟาร์มจอมทองที่ดูแลเกษตรกรรอบข้างเหมือนครอบครัวที่พึ่งพากัน เป็นโครงการดีๆที่ช่วยลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ของเกษตรกร
ด้าน วิโรจน์ ใจด้วง เกษตรกรใน อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ที่รับน้ำปุ๋ยจากคอมเพล็กซ์ไก่ไข่เชียงใหม่ เพื่อใช้รดแปลงหญ้าเนเปีย 6 ไร่ เมื่อเดือนมีนาคม 2564 โดยเริ่มทดลองนำร่อง 2 แปลง พบว่าน้ำปุ๋ยเหมาะกับพืชใบแคบประเภทหญ้า ทำให้ต้นหญ้าโตเร็ว อวบแน่น ใบใหญ่ จึงใช้กับหญ้าทุกแปลง ซึ่งได้ผลผลิตดีมาก หญ้าโตเร็วกว่าที่เคยใช้ปุ๋ยเคมี จากที่ใช้เวลาปลูก 60 กว่าวัน ปัจจุบันใช้เวลา40-45 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ จากเคยได้หญ้า 3-4 ตันต่อไร่ หลังใช้น้ำปุ๋ยแล้วได้ผลผลิตถึงไร่ละ 5-6 ตัน "วิโรจน์" ยังได้ถ่ายทอดเทคนิคง่ายๆ ของการนำน้ำปุ๋ยมาใช้ โดยผสมน้ำปุ๋ยกับน้ำคลองอัตราส่วน 1:1 ใช้ตอนต้นหญ้าแทงยอดประมาณ 1 คืบ ให้น้ำปุ๋ยเดือนละครั้ง ตอนนี้เขาไม่มีภาระต้นทุนค่าปุ๋ยเลย
ครูปัญญา นุชรุ่งเรือง เกษตรกร อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ที่รับน้ำปุ๋ย จากคอมเพล็กซ์ไก่ไข่พิษณุโลก เล่าว่า ก่อนหน้านี้พื้นที่เป็นนาข้าว แต่ประสบปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตไม่ดีนัก เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ จึงตัดสินใจเปลี่ยนเป็นแปลงปลูกหญ้าสำหรับเลี้ยงวัว ขณะนั้นซีพีเอฟมีโครงการทำแปลงทดลองการใช้น้ำปุ๋ยจากระบบไบโอแก๊ส จึงขอรับน้ำปุ๋ยมาทดลองใช้ พบว่าหญ้าในแปลงโตดี ใบใหญ่สมบูรณ์ เพราะในน้ำปุ๋ยมีธาตุอาหาร โดยเฉพาะไนโตรเจนที่พืชต้องการ ทุกวันนี้ปลูกหญ้าตามธรรมชาติไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเสริม และไม่เคยขาดน้ำ เพราะได้รับปันน้ำจากฟาร์มอย่างต่อเนื่อง ขอขอบคุณบริษัทที่ช่วยลดรายจ่ายของเกษตรกร ทั้งค่าปุ๋ย ค่าน้ำ นอกจากผลผลิตดี ตอนนี้สภาพของดินยังดีขึ้นด้วย
ซีพีเอฟ ยังคงเดินหน้าสานต่อ "โครงการปันน้ำปุ๋ยให้ชุมชน” ช่วยดูแลเกษตรกรรอบฟาร์มจำนวนมาก ลดต้นทุนการเพาะปลูก บรรเทาปัญหาภัยแล้ง สร้างความมั่นคงของแหล่งน้ำให้กับชุมชน ส่งเสริมการเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน