Newstimestory

มกอช. บูรณาการผลักดันการปลูกข้าวยั่งยืน ตามมาตรฐาน SRP ชู “กลุ่มบ้านโนนจิก” ต้นแบบปลูกข้าวยั่งยืน

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้ร่วมบูรณาการดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “การประเมินความยั่งยืนโดยตลอดวัฏจักรชีวิต และการยกระดับสู่มาตรฐานการปลูกข้าวยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวไทยที่ยั่งยืน” ร่วมกับศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมการข้าว และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. 

ที่ผ่านมา มกอช. ได้ออกประกาศกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : ข้าวยั่งยืน (มกษ.4408-2565) ไว้เป็นมาตรฐานทั่วไป เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตข้าวให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานการปลูกข้าวที่ยั่งยืน (SRP Standard for Sustainable Rice Cultivation) ของเวทีข้าวที่ยั่งยืน (Sustainable Rice Platform : SRP) เป็นประเทศแรกในอาเซียน รวมทั้งได้ดำเนินการขอเทียบเคียงมาตรฐานข้าวยั่งยืน (มกษ.4408-2565) ของประเทศไทย กับมาตรฐานการปลูกข้าวที่ยั่งยืนของ SRP โดยปัจจุบันได้ยื่นเอกสาร National Interpretation Guideline : NIG ให้ SRP เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาตามกระบวนการของ SRP ซึ่งประโยชน์ของมาตรฐานของมาตรฐานข้าวยั่งยืนต่อการค้าของไทย โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ผลิต จะทำให้การผลิตข้าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุนการผลิตข้าว ทำให้เกษตรกรมีรายได้การผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ลดความเสี่ยงของเกษตรกรจากการสัมผัสสารเคมีทางการเกษตร จากการเน้นให้ใช้หลักการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (Integrated Pest Management: IPM) ส่งเสริมการรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีของพื้นที่ปลูกและพื้นที่โดยรอบของชุมชน สำหรับประโยชน์ในระดับประเทศ จะช่วยลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำนาในรูปแบบเก่าเนื่องจากกำหนดให้ห้ามเผาฟางและตอซัง และใช้เทคนิคการทำนาแบบเปียกสลับแห้งเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำสำหรับการปลูกข้าวและลดปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนจากแปลงนา ประชากรมีสุขภาพดีจากการบริโภคข้าวที่ปลอดภัย และเพิ่มศักยภาพในการส่งออกข้าวที่ได้มาตรฐานด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกับแนวทางสากล ขณะที่ประโยชน์ระดับโลก การผลิตที่ช่วยลดการเกิดก๊าซมีเทนจะช่วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อน และการผลิตที่เน้นความยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจ สังคมและส่งแวดล้อมจะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประชากรโลกได้ด้วย 

ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวยั่งยืน กลุ่มบ้านโนนจิก อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ถือเป็นกลุ่มต้นแบบ ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 49 ราย พื้นที่ปลูกรวม 1,778 เฮกตาร์ พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ ได้รับความช่วยเหลือทางเทคนิคในการยกระดับสู่การปลูกข้าวที่ยั่งยืนตามมาตรฐานสากล SRP ที่ผ่านมาประเด็นปัญหาหลัก คือ การจดบันทึกข้อมูล การตรวจดินและการปนเปื้อนโลหะหนัก การใส่ปุ๋ยเคมีและอินทรีย์ตามผลการตรวจวัดคุณภาพดิน ต่อมาได้เข้ารับการอบรมจำนวน 3 ครั้ง เกี่ยวกับการตีความข้อกำหนดการปลูกข้าวที่ยั่งยืนตามมาตรฐานสากล SRP สู่การปฏิบัติจริง การใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง การใช้สารเคมีตามที่อนุญาตให้ใช้ วิธีการใช้สารเคมีตามคำแนะนำบนฉลาก ตลอดจนการจัดการขยะขวดสารเคมีที่ใช้แล้วอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ภายใต้การดำเนินโครงการวิจัย สวก. เรื่อง "การประเมินความยั่งยืนโดยตลอดวัฏจักรชีวิต และ การยกระดับสู่มาตรฐานการปลูกข้าวยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวไทยที่ยั่งยืน" โดยมี รศ. ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการ วีกรีน คณะสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าโครงการฯ ผ่านความร่วมมือทางวิชาการกับ มกอช.  กรมการข้าว  และ GIZ ทำให้นำไปสู่การได้รับการรับรองการปลูกข้าวยั่งยืน ตามมาตรฐานสากล SRP (Version 2.1), Assurance level 3- Producer group เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยคาดหวังว่าจะเป็นการส่งเสริมการตลาดและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวยั่งยืน โดยจะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้ไปยังเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ทั่วประเทศไทยต่อไป

“อย่างไรก็ตาม การดำเนินการพัฒนามาตรฐานข้าวยั่งยืน นำข้าวไทยสู่สากล เป็นความท้าทายในการนำมาตรฐานไปใช้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของข้าวในเวทีโลก ตอบรับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของความต้องการอาหารที่ปลอดภัย กระบวนการผลิตดีต่อสิ่งแวดล้อมและคำนึงสวัสดิภาพแรงงาน” เลขาธิการ มกอช. กล่าว 

ใหม่กว่า เก่ากว่า