นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยจากการลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน พบว่าสภาพพื้นที่ลุ่มน้ำยมมักประสบปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งเป็นประจำ เนื่องจากไม่มีอ่างเก็บน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในพื้นที่ตอนต้นได้ ส่วนพื้นที่ตอนล่างเป็นพื้นที่ราบ กรมชลประทานได้จัดทำแผนพัฒนาลุ่มน้ำยมตอนล่าง ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก และจ.พิจิตร โดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำยม 4 แห่ง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ในลำน้ำ เพื่อใช้ในการเพาะปลูก อุปโภคบริโภค บรรเทาความเสียหายจากอุทกภัย ได้แก่ ประตูระบายน้ำท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ประตูระบายน้ำท่าแห อ.สามง่าม จ.พิจิตร ประตูระบายน้ำบ้านวังจิก และประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้าง อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร
รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศตั้งแต่ 1 ม.ค. 66 ถึงปัจจุบันน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 18 และในพื้นที่ภาคเหนือน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 27 โดยจากการตรวจสอบใน จ.นครสวรรค์ พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร (นาปี) ในเขต 35 ตำบล 8 อำเภอ ได้แก่ ต.ชุมตาบง อ.ชุมตาบง ต.ทับกฤช ต.บางเคียน ต.หนองกระเจา ต.ไผ่สิงห์ อ.ชุมแสง ต.ท่าตะโก ต.พนมรอก ต.หัวถนน ต.สายลำโพง ต.วังมหากร ต.ดอนคา ต.วังใหญ่ อ.ท่าตะโก ต.บ้านแดน ต.บางแก้ว อ.บรรพตพิสัย ต.โคกเดื่อ ต.สำโรงชัย ต.วังน้ำลัด ต.นาขอม ต.ไพศาลี อ.ไพศาลี ต.หนองกรด ต.หนองกระโดน อ.เมืองนครสวรรค์ ต.ลาดยาว ต.ห้วยน้ำหอม ต.วังม้า ต.หนองยาว ต.หนองนมวัว ต.บ้านไร่ ต.เนินขี้เหล็ก ต.ศาลเจ้าไก่ต่อ ต.สระแก้ว อ.ลาดยาว และต.หนองบัว ต.หนองกลับ ต.ธารทหาร ต.ห้วยร่วม ต.วังบ่อ อ.หนองบัว และพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร (ไม้ผล ไม้ยืนต้น) ในเขต 3 ตำบล 1 อำเภอ ประกอบด้วย ต.ห้วยน้ำหอม ต.มาบแก ต.บ้านไร่ อ.ลาดยาว ทั้งนี้ รองเลขาธิการฯ ได้กำชับให้เตรียมการรับสถานการณ์เอลนีโญ ติดตาม เฝ้าระวัง และควบคุมการบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัดให้เพียงพอถึงปี 67
รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้างแล้ว ยังได้ติดตามความก้าวหน้าแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด 6 ด้าน โดยหากแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ประมาณ 67 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 85,000 ไร่ ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ได้ โดยการรับน้ำหลากจากแม่น้ำน่าน ลดความเสียหายจากน้ำท่วมได้มากถึง 21,000 ไร่ ปัจจุบันบึงบอระเพ็ดซึ่งถือว่าเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ มีระดับน้ำอยู่ที่ 20.44 ม.รทก. มีปริมาณน้ำใช้การประมาณ 4 ล้าน ลบ.ม. (2%)
“พื้นที่ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านในพื้นที่ จ.พิจิตร และ จ.นครสวรรค์ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่น้ำท่วมอยู่ในรหัสโซนพื้นที่ทางน้ำหลาก ซึ่ง สทนช. เสนอแนะให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร ป้องกันการพัฒนาที่อาจก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำหรือกระแสน้ำ หรือกีดขวางการไหลของน้ำ เว้นแต่การใช้ประโยชน์ที่ดินที่กำหนดไว้เป็นเขตชุมชน เขตอุตสาหกรรม และเขตพื้นที่ป้องกันน้ำท่วมตามผังเมืองรวม นอกจากนี้ ผังน้ำยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยตัดสินใจในการสร้างที่อยู่อาศัย โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ไม่ให้อยู่ในพื้นที่น้ำหลากหรือกีดขวางทางระบายน้ำรวมถึงควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในขอบเขตพื้นที่ตามระบบทางน้ำที่ได้กำหนดแนวเขตไว้ โดยผังน้ำจะกำหนดขอบเขตชัดเจนว่า บริเวณใดเป็นพื้นที่สงวนไว้ให้ทางน้ำโดยเฉพาะ ไม่มีสิ่งกีดขวางตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ขณะนี้การจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำยม ได้ดำเนินการปรับปรุงตามข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้วเสร็จ และจะนำไปรับฟังความคิดเห็นเป็นครั้งสุดท้ายต้นเดือนกันยายน 2566”