บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าสร้างความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ควบคู่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำตลอดกระบวนการผลิต ตามหลักการ 3 Rs (Reduce Reuse Recycle) มุ่งมั่นมีส่วนร่วมรักษาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ภายใต้วิสัยทัศน์ "ครัวของโลกที่ยั่งยืน" ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงนำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy)มาใช้บริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งบริษัทฯนำหลักการ 3 Rs ประกอบด้วย ลดการใช้น้ำ (Reduce) นำน้ำมาใช้ซ้ำ (Reuse) และนำน้ำมาใช้ใหม่ (Recycle) เป็นแนวทางดำเนินการให้กับบุคลากรในทุกสายธุรกิจ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ส่งผลให้ปี 2563 บริษัทสามารถลดการดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิตได้ 36% เมื่อเทียบกับปีฐาน ขณะที่ปริมาณน้ำที่นำมาใช้ซ้ำและใช้ใหม่อยู่ที่ 42% ของปริมาณการดึงน้ำมาใช้ทั้งหมด
นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในกระบวนการผลิตตามหลัก 3Rs ที่นำมาใช้กระบวนการเลี้ยงกุ้งแล้ว ในสายธุรกิจต่างๆ ของซีพีเอฟ ที่มีการนำหลักการดังกล่าวไปใช้ในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในส่วนของการลดการใช้น้ำ (Reduce) หาแนวทางการใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพหรือนำเทคโนโลยีมาช่วยลดการใช้น้ำ เช่น โรงงานแปรรูปเนื้อไก่นำระบบระบายความร้อนด้วยอากาศมาใช้แทนระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ ในส่วนของการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) ธุรกิจอาหารสัตว์บก นำน้ำที่เหลือจากการกรองกลับมาใช้กิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิต เช่น รดน้ำต้นไม้ ล้างถนน และในส่วนของการนำน้ำมาใช้ใหม่ (Recycle) ออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียให้สามารถหมุนเวียนน้ำที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น
ซีพีเอฟ ตระหนักถึงการเข้าถึงน้ำสะอาดที่เพียงพอ และคำนึงถึงความต้องการใช้น้ำในระยะยาว เดินหน้าบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ปลูกฝังและส่งเสริมให้พนักงานทุกคนในองค์กรใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและประหยัด รวมไปถึงการดูแลชุมชนรอบข้างสถานประกอบการ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำอย่างพอเพียง ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ ฟาร์มสุกรของซีพีเอฟดำเนินโครงการปันน้ำปุ๋ย โดยในปี 2563 ปันน้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพและได้ตามมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดให้เกษตรกรกว่า 200 รายนำไปใช้เพื่อการเพาะปลูก ช่วยลดต้นทุนการผลิตและบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนภารกิจการสร้างความมั่นคงทางอาหารบนพื้นฐานของความยั่งยืนร่วมกัน