วันนี้ (12 ก.ย.65) ที่อ่างเก็บน้ำห้วยแม่สอดตอนล่าง ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ตาก โดยมีนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ และรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดตาก
นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จังหวัดตาก มีพื้นที่การเกษตรประมาณ 1.08 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ชลประทาน 0.24 ล้านไร่ (22 % ของพื้นที่การเกษตร) ปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 1,698 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำฝนรายปีเฉลี่ย 1,459 มิลลิเมตร จากข้อมูลเมื่อวันที่ 12 ก.ย.65 อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 4 แห่ง (อ่างฯห้วยเล็ก,อ่างฯห้วยแม่สอด,อ่างฯห้วยแม่สอดตอนบน และอ่างฯห้วยแม่ท้อ) มีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 57 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 65% ของความจุอ่างฯรวมกัน และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอีก 18 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันประมาณ 6.5 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 76% ของความจุอ่างฯรวมกันปริมาณน้ำเก็บกักทั้งหมดเพียงพอสำหรับการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรในช่วงฤดูแล้งปี 2566
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดตาก ที่สำคัญเร่งด่วน 3 โครงการ ดังนี้ 1.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อรองรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดตาก ปัจจุบันได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จแล้ว 3 โครงการ ได้แก่ อ่างฯห้วยแม่กึ้ดหลวงตอนบน ต.แม่กาสา อ.แม่สอด ,อ่างฯห้วยแม่ละเมาตอนกลาง-บ้านใหม่พัฒนา ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด และอ่างฯห้วยอุ้มเปี้ยมตอนบน ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ 2.โครงการการพัฒนาแหล่งน้ำฝั่งตะวันออก(แม่น้ำวัง) จ.ตาก เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง แยกเป็นอ่างเก็บน้ำ 1 โครงการ (อ่างเก็บน้ำแม่ระวาน)และประตูระบายน้ำ 5 แห่ง ซึ่งกรมชลประทานจะเร่งรัดศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และขออนุญาตใช้พื้นที่ เพื่อจัดเข้าแผนงานก่อสร้างในระยะต่อไป 3.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำท้ายเขื่อนภูมิพล ในเขต จ.ตาก วางแผนดำเนินการก่อสร้างอาคารอัดน้ำชั่วคราว 5 แห่ง อาคารอัดน้ำถาวร 2 แห่ง โดยในส่วนอาคารอัดน้ำถาวร ขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อาคารบังคับน้ำแม่ยะ ต.เกาะตะเภา อ.บ้านตาก จ.ตาก เสร็จแล้ว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน(คชก.) เมื่อเล่มรายงาน EIA ผ่านการพิจารณาแล้ว จะได้ขออนุญาตใช้พื้นที่กับกรมเจ้าท่าและจัดเข้าแผนงานก่อสร้างต่อไป
ในการนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้พบปะเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่สอด รวมถึงได้ตอบข้อซักถามจากประชาชน พร้อมกล่าวว่า รัฐบาลจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดีมากขึ้น ทั้งด้านการจัดหาที่ดินทำกินและด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตรกรรม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี