Newstimestory

ก.ยุติธรรม จับมือภาคีร่วม Kick off แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5

วันนี้ (9 มีนาคม 2566) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มอบหมายให้นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านบริหารความยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานประกาศใช้แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570) ร่วมกับผู้แทนส่วนราชการอีกกว่า 20 กระทรวง เพื่อสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 โดยมีภาคีเครือข่ายผู้เข้าร่วมงานเป็นสักขีพยานทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 

นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ รวมทั้งเข้าร่วมกระบวนการการนำเสนอรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กลไก UPR ซึ่งการมีแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติถือเป็นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศ มุ่งแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาพรวมประเทศให้ลดลง โดยปัจจุบันได้เข้าสู่วาระการขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2566-2570) ได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ในการร่วมยกร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 เพื่อให้เป็นแผนที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง  และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 แล้ว


ทั้งนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จึงได้จัดงานประกาศใช้แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ขึ้นมา เพื่อนำเสนอผลสำเร็จของการขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ซึ่งเป็นแผนฉบับที่ผ่านมา เช่น กรมสรรพากร นำเสนอเรื่องการนำมาตรการทางภาษีมาใช้เพื่อให้ผู้ประกอบการจ้างงานคนพิการและจ้างงานผู้สูงอายุ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้ดำเนินการเรื่องการลบประวัติผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งส่งผลให้เด็กและเยาวชนสามารถกลับตัวกลับใจและใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นปกติ เป็นต้น รวมทั้งได้นำเสนอสาระสำคัญของแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 เพื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งส่วนราชการ ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ ได้รับทราบ และเตรียมพร้อมในการร่วมขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ให้สัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม จะเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นเรื่องที่กว้างขวางมากและไม่สามารถดำเนินงานได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม กระทรวงยุติธรรมหวังว่าการจัดงานในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อไปสู่เป้าหมายการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนในประเทศลดลง

ด้านนายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มุ่งมั่นขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชน และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการประกาศใช้แผนสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 5 ในครั้งนี้จะสามารถเป็นพลังผลักดันและสร้างแรงขับเคลื่อนในงานด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งได้ต่อไป ในการจัดงานครั้งนี้ได้เชิญหน่วยงานที่มีผลงานเด่นจากการขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 มาร่วมจัดบูธนิทรรศการนำเสนอผลงาน และยังมีกิจกรรมการนำเสนอแลกเปลี่ยนประเด็นทางสังคมในด้านต่างๆ โดยนักวิชาการ ศิลปินและนักขับเคลื่อนทางสังคม ได้แก่ รศ.ดร.ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด ที่ปรึกษาการยกร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 คุณนรพันธ์ ทองเชื่อม นำเสนอประเด็นใหม่ที่ปรากฏในแผนกับกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช คุณกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือคุณกัน จอมพลัง นักธุรกิจที่มีความสนใจประเด็นด้านการช่วยเหลือสังคม และคุณซิลวี่ ภาวิดา มอริจจิ ศิลปินกับมุมมองของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย สำหรับผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนหน่วยงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย และผู้แทนหน่วยงานภาคประชาสังคม  รวมทั้งมีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างยั่งยืน


ใหม่กว่า เก่ากว่า