นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่าในปี 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียตรวจพบสารตกค้างในผลลำไยสดนำเข้าจากไทยเกินค่ามาตรฐานบ่อยครั้ง ซึ่งไทยส่งออกลำไยสดไปมาเลเซียในปีดังกล่าวจำนวนกว่า 9,089 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 270 ล้านบาท ทำให้มาเลเซียประกาศใช้มาตรการใหม่ กำหนดให้ผู้ส่งออกที่เคยถูกตรวจพบว่ามีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน หรือเรียกว่าอยู่ในรายชื่อเฝ้าระวัง (Watch List) จะต้องมีเอกสารรับรองผลการตรวจวิเคราะห์ หรือ COA ที่แสดงว่ามีสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และ Carbendazim ตกค้างไม่เกินค่ามาตรฐานของมาเลเซีย ประกอบการนำเข้าสินค้าทุกล็อต โดยหากไม่มีเอกสารดังกล่าว สินค้าจะถูกอายัดที่ด่านนำเข้าเพื่อรอผลการตรวจ หากไม่พบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน จึงจะอนุญาตให้นำเข้าได้ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
สำหรับผู้ส่งออกที่ไม่ได้อยู่ใน Watch List จะยังคงส่งออกผลลำไยสดได้ตามปกติ โดยไม่ต้องแนบเอกสาร COA แต่จะถูกสุ่มตรวจตามแผนการตรวจประจำปีของมาเลเซีย โดยหากตรวจพบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และ Carbendazim เกินค่ามาตรฐาน จะถูกบรรจุใน Watch List และการส่งออกล็อตต่อไปจะต้องมีเอกสาร COA ประกอบเช่นเดียวกัน
ด้านนางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ รองเลขาธิการ มกอช. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การส่งออกผลลำไยสดที่ผ่านการรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานบังคับ เรื่อง หลักปฏิบัติที่ดีสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (มกษ.1004-2557) ซึ่งกำหนดให้ลำไยสดที่ผ่านการรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ต้องมาจากโรงรมที่ได้รับใบอนุญาต และผ่านการรับรองมาตรฐาน ในส่วนของผู้ส่งออกจะต้องขอใบอนุญาต และแจ้งการส่งออกมายัง มกอช. ทุกล็อต โดยจากสถิติที่ผ่านมาพบว่า ผู้ส่งออกที่ปฏิบัติตามมาตรฐานบังคับ ยังไม่เคยถูกตรวจพบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างเกินค่ามาตรฐานของมาเลเซียมาก่อน มีเพียงผู้ส่งออกที่ไม่ปฏิบัติตามเท่านั้นที่พบปัญหาดังกล่าว ซึ่งนับเป็นข้อได้เปรียบอย่างชัดเจนของผู้ส่งออกที่ปฏิบัติตามมาตรฐานบังคับ
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากมีการตรวจพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานในผลลำไยสดที่นำเข้าจากไทยในปริมาณและความถี่ที่สูงขึ้น มาเลเซียอาจพิจารณายกระดับมาตรการควบคุมการนำเข้าให้เข้มงวดขึ้นอีก เช่น กำหนดให้ผู้ส่งออกทุกรายต้องมีเอกสาร COA ประกอบการส่งออกทุกล็อต ไปจนถึงระงับการนำเข้าผลลำไยสดจากไทย ดังนั้นผู้ส่งออกควรเพิ่มความระมัดระวังในการคัดเลือกสินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน โดยเลือกผลลำไยสดที่ผ่านการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากโรงรมที่ได้รับใบอนุญาตและผ่านการรับรองตามมาตรฐาน มกษ. 1004-2557 และควรเป็นผลลำไยสดจากแปลงที่ได้รับการรับรอง GAP พืช ตาม มกษ. 9001 เพื่อลดความเสี่ยงในการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตร
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกสามารถตรวจสอบรายชื่อ Watch List และรายชื่อห้องปฏิบัติการที่สามารถออกเอกสาร COA ประกอบการส่งออกได้ที่ กองควบคุมมาตรฐาน มกอช. โทรศัพท์ 02-561-2277 ต่อ 5222, 5230 หรือ 095-871-2113