รศ.ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ |
ม.ราชภัฏสวนสุนันทา ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของชุมชน ด้วยการนำงานวิจัยไปต่อยอดภูมิปัญญาของชาวบ้าน ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีคุณภาพมาตรฐานและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมากขึ้น ทั้งการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย มีบรรจุภัณฑ์และฉลากสินค้า ป้ายราคาที่ชัดเจน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค รองรับการจำหน่ายสินค้าทั้งในระบบออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งผลจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กับกลุ่มภาคีเครือข่าย และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพในจังหวัดอุดรธานีในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ผลิตภัณฑ์ชุมชนมีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล มีการนำเสนอรูปแบบที่น่าสนใจ และที่สำคัญสามารถต่อยอดชิ้นงานผลิตภัณฑ์เดิมแตกไลน์เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ๆ เพิ่มโอกาสในการแข่งขันในเชิงพาณิชย์
“วันนี้นักวิจัยของม.ราชภัฏสวนสุนันทา ได้นำงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพของชุมชนได้จริง ดังนั้น ชุมชนที่มีภูมิปัญญามีชิ้นงานอยู่แล้ว เราสามารถไปช่วยสนับสนุนดึงศักยภาพตรงนั้นออกมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ให้ประชาชนมีรายได้ ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศต่อไป” อธิการบดี ม.ราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนางสาวกรองทอง แก่นคำ ตัวแทนกลุ่มต้นคราม ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในการเป็นต้นแบบบรรจุภัณฑ์และตราสัญลักษณ์ “Startup Champion Model” กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ย้อมครามของกลุ่มเป็นผ้าทอมือ ที่แต่เดิมรุ่นยายรุ่นแม่ทำกันเป็นลายมัดหมี่ดั้งเดิมซึ่งอาจดูไม่ทันสมัยทำให้มีกลุ่มลูกค้าค่อนข้างจำกัด พอมาถึงรุ่นลูกจึงอยากสืบสานต่อยอดผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้น เริ่มจากแสวงหาองค์ความรู้จากสถาบันการศึกษา โดยได้อาจารย์ ม.ราชภัฏสวนสุนันทา เข้ามาช่วยแนะนำตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ตัดเย็บยังไงให้เหมาะกับสภาพอากาศร้อนของบ้านเรา การเพิ่มลวดลายและเฉดสีให้หลากหลายทันสมัยขึ้น การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนชี้แนะจุดบกพร่องที่บางครั้งตัวผู้ผลิตเองอาจมองข้าม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จุดประกายให้กลุ่มได้นำมาพัฒนาต่อยอด จนวันนี้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มต้นครามได้ยกระดับไปอีกขั้น เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน Startup และ OTOP 5 ดาว มีช่องทางจำหน่ายทั้งหน้าร้านและออนไลน์ผ่านเพจเฟสบุ๊ค ต้นคราม ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้ามากขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริง