นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ร่วมกับกรมปศุสัตว์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เกษตรกรผู้เลี้ยง BSF และอาจารย์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาเรื่อง “กฎระเบียบการส่งออกและใช้แมลงเพื่อเป็นอาหารสัตว์: Black Soldier Fly ขับเคลื่อน BCG Model ภาคเกษตรไทย” ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ ร่วมกับระบบออนไลน์ Zoom Cloud Meeting เพื่อให้สร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ของ BSF ต่อภาคเกษตรของไทย ในการใช้ลดต้นทุนอาหารสัตว์ และการเพิ่มมูลค่าจาก BSF และรับทราบกฎระเบียบของไทยที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการผลิต BSF อย่างปลอดภัย การนำมาใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศ รวมถึงการส่งออก BSF หรืออาหารสัตว์/อาหารสัตว์เลี้ยงที่มีส่วนผสมของ BSF ไปต่างประเทศ
การสัมมนาในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการที่ มกอช. มองเห็นศักยภาพของ BSF ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการย่อยขยะอินทรีย์ (organic waste) หรือ by-products ทางการเกษตร ให้เปลี่ยนเป็นแหล่งโปรตีนและไขมันที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์หรือเป็นแหล่งโปรตีนทดแทนในอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของการเลี้ยงและผลิตสินค้าปศุสัตว์รวมถึงสินค้าประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าปศุสัตว์ อาหารสัตว์เลี้ยง และสินค้าสัตว์น้ำรายใหญ่ของโลก ซึ่งไทยมีความต้องการวัตถุดิบอาหารสัตว์มากกว่า 19 ล้านตันต่อปี
นอกจาก BSF จะเป็นทางออกในการลดต้นทุนของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าปศุสัตว์และสัตว์น้ำแล้ว ยังตอบโจทย์บริบทของโลกและการค้าในยุคปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาและค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะอินทรีย์ สอดคล้องกับแนวคิด BCG model ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยและนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตโปรตีนจากแมลง หรือ “ฮับแมลงโลก” ที่ มกอช. ได้ดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่องจนผลักดันเป็น “กรอบนโยบายสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมแมลงเศรษฐกิจของไทย” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“ทั้งนี้ การสัมมนาครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการภาคเอกชน เกษตรกรผู้ผลิตและใช้ประโยชน์จาก BSF เป็นจำนวนมาก มีผู้เข้าร่วมสัมมนามากกว่า 350 คน ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง องค์ความรู้ ข้อคิดเห็น และหารือแนวทางการผลักดันการพัฒนาและใช้ประโยชน์ BSF เพื่อลดต้นทุนอาหารสัตว์ และขับเคลื่อน BCG Model ภาคการเกษตรของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิต ได้ร่วมกันขับเคลื่อนภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมแมลงเศรษฐกิจของไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยการดำเนินการต่อไป มกอช. จะขับเคลื่อนด้านการมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพ ความปลอดภัยอาหาร และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนของภาคธุรกิจและการสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับของผู้บริโภค”เลขาธิการ มกอช. กล่าว