Newstimestory

ชป.ร่วมประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร

วันนี้(26 ก.ค.66) ณ ห้องประชุม SWOC อาคาร 99ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู  กรมชลประทาน ถนนสามเสน  ดร.ทวีศักดิ์  ธนเดโชพล  รองอธิบดีกรมชลประทาน   พร้อมด้วยนายสันติ  เต็มเอี่ยม  ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านจัดสรรน้ำและบำรุงรักษา)  นายธวัชชัย  ไตรวารี  หัวหน้าฝ่ายประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ   นายประยูร เย็นใจ ที่ปรึกษาสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา  และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เข้าร่วมประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์    ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายธิติ โลหะปิยะวรรณ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม เพื่อร่วมกันติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์เอลนีโญ   ตลอดจนสถานการณ์น้ำปัจจุบัน  รวมทั้งเตรียมการจัดทำแผนงาน เพื่อรองรับผลกระทบจากภัยแล้งปี 66/67 

ดร.ทวีศักดิ์  ธนเดโชพล  รองอธิบดีกรมชลประทาน  เปิดเผยว่าปัจจุบัน (25ก.ค.66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 14,536 ล้าน ลบ.ม.  เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 3,097 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติในช่วงต้นฤดูฝนที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลต่อปริมาณน้ำในเขื่อน 

กรมชลประทาน  ได้ติดตามสภาพอากาศพร้อมวางแผนสำรองน้ำ เพื่อรับมือสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก รักษาระบบนิเวศ การเกษตรและอุตสาหกรรม ตามลำดับ จึงทำให้การจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนด และไม่มีพื้นที่ในเขตชลประทานประสบภัยแล้ง  พร้อมคาดการณ์และวางมาตรการรับมือสถานการณ์น้ำในอนาคต ตามข้อสั่งการของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)  ด้วยการ วางแผนการบริหารจัดการน้ำ 2 ปี (ปี2566-2567)   เร่งเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนที่เหลือ (ก.ค.- ต.ค.66) ให้ได้มากที่สุด รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บของอ่างเก็บน้ำ แก้มลิง คลองส่งน้ำ คลองระบายและบ่อยืม  ชะลอ/กักเก็บน้ำในลำน้ำธรรมชาติ อาทิ ต้นน้ำจัดทำฝายชะลอน้ำ   กลางน้ำ กักเก็บน้ำโดยเขื่อนทดน้ำ เขื่อนระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ ฝาย  ปลายน้ำ กักเก็บน้ำโดยอาคารชลประทาน สำหรับทางน้ำที่ยังไม่มีอาคารชลประทานให้พิจารณาสร้างทำนบชั่วคราว เพื่อกักเก็บน้ำไว้ไม่ให้ไหลลงแม่น้ำนานาชาติหรือทะเล   ที่สำคัญทำการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรเพาะปลูกพืช ที่ใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้ง    รวมทั้งใช้มาตรการ 3R  REDUCED ประหยัดน้ำโดยการลดการใช้น้ำ ควบคุมปริมาณการใช้น้ำในสัดส่วนที่เหมาะสม  REUSED นำน้ำมาใช้ซ้ำ  RECYCLED นำน้ำมาผ่านกระบวนการบำบัดให้สามารถใช้ได้อีก  

ทั้งนี้  จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วน  ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคไปจนถึงฤดูแล้งหน้า

ใหม่กว่า เก่ากว่า