นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศได้รวบรวมและจำหน่ายผลไม้รวม 12,788.02 ตัน มูลค่า 462.83 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2568) โดยผลไม้ที่มีการรวบรวม ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย เงาะ ลองกอง มะม่วง สับปะรด ส้มโอ มะพร้าว แตงโม และอื่นๆ ซึ่งช่องทางการตลาดรวมถึงการค้าภายในประเทศและการส่งออกผ่านเครือข่ายสหกรณ์และตลาดออนไลน์ โดยภาคตะวันออก มีการจัดคาราวานผลไม้ "KICK OFF การกระจายผลไม้คุณภาพภาคตะวันออกสู่เครือข่ายพันธมิตร" ณ จังหวัดตราด ซึ่งได้มีการส่งผลไม้จากสหกรณ์ในจังหวัดตราด จันทบุรี และระยอง ไปยังเครือข่ายสหกรณ์ทั่วประเทศ จนถึงปัจจุบันได้กระจายผลผลิตมากกว่า 50 ตัน ขณะที่ภาคใต้ สถาบันเกษตรกรในจังหวัดนครศรีธรรมราช ระนอง และชุมพร กระจายผลผลิตมังคุดจำนวนกว่า 150 ตัน
ส่วนภาคเหนือ คาดว่าในฤดูกาลผลิตปี 2568 ผลผลิตลำไยจะเพิ่มขึ้น โดยกรมฯ มีแผนกระจายผลผลิตจากจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน น่าน พะเยา และเชียงราย รวมทั้งสิ้น 11,237.50 ตัน โดยแบ่งเป็นการรวบรวมผ่านกลไกตลาดปกติ 9,823.50 ตัน และผ่านสหกรณ์ 1,414 ตัน การกระจายจะใช้เครือข่ายของสถาบันเกษตรกรในการนำผลผลิตสู่ตลาดปลายทางและผู้บริโภคใน 73 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพฯ
“มาตรการทั้ง 3 ด้านข้างต้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับคุณภาพผลผลิตตามมาตรฐาน GAP สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร อีกทั้งส่งเสริมการเชื่อมโยงสินค้าเกษตร โดยมีสหกรณ์เป็นกลไกในการขับเคลื่อนส่งเสริมสหกรณ์ให้มีบทบาทในการจัดการผลผลิตและการตลาดแก่สมาชิก รวมถึงส่งเสริมให้สถาบันเกษตรกรเป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตของเกษตรกร เพื่อให้สินค้าเกษตรมีตลาดรองรับที่แน่นอนในราคาที่เป็นธรรม นอกจากนี้ การรณรงค์ให้ประชาชนคนไทยหันมาบริโภคผลไม้คุณภาพภาคตะวันออก เพื่อช่วยกระจายสินค้าเกษตรสู่ตลาดภายในประเทศ จึงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจฐานรากให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรอย่างมั่นคง” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว