Newstimestory

รองนายกฯภูมิธรรม เยือนศรีสะเกษ ติดตามการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำโขง ชี มูล

วันที่ 16 กรกฎาคม 2568 ที่โครงการชลประทานศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดศรีเกษ โดยมีนายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และบรรยายสรุปแนวทางในการบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำโขง  ชี  มูล ทั้งระบบ พร้อมแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ

ในการนี้ นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ผ่านแบบจำลองสถานการณ์ (Model) นอกจากนี้ ยังได้สาธิตการใช้งานระบบ SCADA (Supervisory Control and Data Acquisition) ซึ่งเป็นระบบควบคุมและจัดการน้ำในเขื่อนและระบบชลประทานแบบเรียลไทม์ สามารถติดตามข้อมูลระดับน้ำ ปริมาณน้ำ และสภาพอากาศ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีการเชื่อมโยงข้อมูลจากสถานีวัดน้ำในแม่น้ำมูล แม่น้ำชี ระบบติดตามสถานการณ์น้ำจากศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) ของกรมชลประทาน รวมไปถึงข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงได้อย่างครอบคลุม

ทั้งนี้ โครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนพี่น้องชาวศรีสะเกษ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ เสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรและชาวศรีสะเกษ ทำให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังนำเสนอโครงการผันน้ำจากลำห้วยสำราญไปสู่ลำห้วยทา ห้วยขะยุง ตามลำดับ  รวมทั้งโครงการผันน้ำ (Bypass) ฝั่งซ้ายจากลำห้วยสำราญไปสู่แม่น้ำมูล ซึ่งทั้ง 2 โครงการ จะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทั้งด้านอุทกภัยและภัยแล้ง รวมกว่า 70,806 ครัวเรือน สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้อีก 140 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 287,600 ไร่ ประชาชนมีน้ำใช้อุปโภคบริโภค การเกษตร และรักษาระบบนิเวศอย่างเพียงพอ

กรมชลประทานได้ติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนนี้อย่างใกล้ชิด มีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ วางแผนเชิงรุกตาม “9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568” เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฝนตกหนักที่อาจจะขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ เพื่อป้องกันและบรรเทาความเสียหายแก่ประชาชนให้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำหรือแหล่งน้ำต่างๆ สำหรับสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า ตามนโยบายของรัฐบาล

ใหม่กว่า เก่ากว่า